การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑ ตัวเก็บประจุ (Capacitor) MO Memoir : Wednesday 12 May 2564

จากการที่ได้ไปอบรมการวินิจฉัยว่าสินค้าใดเข้าข่ายสินค้าเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมต่อต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ แม้ว่าบางเรื่องที่ได้ไปอบรมมานั้นจะได้เขียนลง blog ไปบ้างแล้วและได้นำไปรวมไว้ใน รวมบทความชุดที่ ๒๕ สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) เนื่องในโอกาสที่ในเร็ว ๆ นี้อาจต้องไปบรรยายเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ก็เลยคิดว่าถึงเวลาที่จะนำบางเรื่องที่ได้ไปอบรมมานั้นมาเขียนลงรายละเอียดเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยจะขอเริ่มจากตัวอย่างการวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง โดยตัวแรกที่ยกมาคือ "ตัวเก็บประจุ" แต่ก่อนอื่น ลองตอบคำถามในรูปที่ ๑ ดูก่อนไหมครับ

รูปที่ ๑ ถ้าได้ยินหรือได้เห็นคำว่า "Condenser" ขึ้นมาลอย ๆ คุณจะนึกถึงอะไร

ปัญหาหนึ่งที่มีโอกาสเจอสูงในการวินิจฉัยสินค้าคือการที่สินค้าตัวนั้นมีหลายชื่อเรียก และชื่อที่ปรากฏในเอกสารนั้นอาจไม่ตรงกับชื่อที่ปรากฏใน EU List ดังนั้นเมื่อต้องการวินิจฉัยสินค้าตัวใดแล้วไม่พบว่ามันปรากฏใน EU List นั้น ก็ต้องพยายามหาดูด้วยว่าชื่อที่เราเห็นนั้นมันเป็นอีกชื่อหนึ่งของสินค้าที่ปรากฏใน EU List หรือเปล่า อย่างเช่นคำ "Condenser" นั้นใน EU List จะหมายถึงเครื่องควบแน่นไอให้กลายเป็นของเหลว แต่ในทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมันหมายถึง "ตัวเก็บประจุ" ซึ่งใน EU List ใช้คำว่า "Capacitor"

เรื่องในวันนี้เคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งแล้วใน Memoir วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ เรื่อง "สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items :DUI) ตอนที่ ๕" ซึ่งตอนนั้นเป็นการนำเอาภาพสไลด์ที่ได้มาจากการฝึกอบรมมาแปะเอาไว้ให้อ่านเอาเองโดยไม่ได้อธิบายอะไรโดยละเอียด มาวันนี้ก็ถือว่าเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่โดยเพิ่มรายละเอียดเข้าไปก็แล้วกัน

ปัญหาแรกที่อาจประสบในการวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าก็คือการใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างไปจากที่ปรากฏใน EU List (จะโดยด้วยความเคยชินหรือด้วยความตั้งใจก็ตาม) ที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ปัญหาข้อที่สองที่อาจประสบก็คือ ภาพรวมของสินค้านั้นดูแล้วไม่น่าเข้าข่าย แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วพบว่าสินค้านั้นประกอบด้วยชิ้นส่วนย่อย ๆ หลายชิ้น (ที่อาจเหมือนกันหรือแตกต่างกัน) ที่นำมาต่อพ่วงเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้คุณลักษณะรวมสุดท้ายที่ต้องการ ตัวอย่างเช่นแบตเตอรี่ที่ใช้กับรถยนต์นั้นจะใช้ชนิดไฟ 12 V แต่สำหรับรถบรรทุกนั้นต้องการใช้ไฟ 24 V แทนที่ผู้ผลิตแบตเตอรี่จะผลิตแบตเตอรี่ตัวใหญ่ขนาด 24 V (ปริมาณกระแสที่แบตเตอรี่จ่ายได้แปรผันตามขนาดแบตเตอรี่) เขาก็ผลิตเพียงแค่แบตเตอรี่ตัวใหญ่ขนาด 12 V (แค่นี้ก็น้ำหนักมากแล้ว) เวลาใช้งานผู้ใช้ก็ต้องใช้ 2 ตัวมาต่ออนุกรมกันเพื่อให้ได้ไฟ 24 V ที่ต้องการ

ในกรณีของตัวเก็บประจุก็เช่นกัน ในกรณีที่เราต้องการค่าความจุที่สูง เราอาจทำได้ด้วยการใช้ตัวเก็บประจุขนาดใหญ่ขึ้น หรือใช้หลายตัวมาต่อขนาน/อนุกรมเข้าด้วยกัน ดังเช่นในกรณีของตัวอย่างในรูปที่ ๒ ข้างล่าง ที่ชุดตัวเก็บประจุนั้นประกอบด้วยตัวเก็บประจุขนาดเล็ก 3 ตัวต่อขนานกัน และบรรจุอยู่ในกล่องโลหะที่เมื่อมองจากภายนอกแล้วจะดูเหมือนว่าเป็นเพียงแค่ตัวเก็บประจุตัวใหญ่เพียงตัวเดียว (power bank ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือบางแบบก็เป็นแบบนี้นะ คือไม่ใช่ถ่านชาร์จได้ก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว แต่ประกอบด้วยถ่ายชาร์จได้ก้อนเล็กหลายก้อนต่อกันอยู่) คุณลักษณะรวมของสินค้าคือรับแรงดันไฟฟ้าได้ 1500 V มีค่าความจุไฟฟ้า (capacitance) 300 uF (ไมโครฟารัด) และค่าการเหนี่ยนำภายใน (inductance) 100 nH (นาโนเฮนรี่) โดยที่ตัวเก็บประจุตัวเล็กที่นำมาประกอบนั้นแต่ละตัวรับแรงดันไฟฟ้าได้ 1500 V มีค่าความจุไฟฟ้า 100 uF และค่าการเหนี่ยนำภายใน 40 nH (หมายเหตุ : ในรูปที่ ๒ ให้ข้อมูลไว้ว่าค่าการเหนี่ยวนำของสายไฟฟ้ายาว 1 เมตรอยู่ที่ประมาณ 100 - 200 nH)

 

รูปที่ ๒ ตัวเก็บประจุนี้ประกอบด้วยตัวเก็บประจุขนาดเล็ก 3 ตัวต่ออนุกรมกัน

ตัวเก็บประจุที่เป็นสินค้าควบคุมต้องมีคุณสมบัติตามที่ปรากฏในหมวด 3A001 Electronic items as folllows หัวข้อ e. High energy devices as follows ข้อย่อยที่ 2. High energy storage capacitor as folllows ซึ่งในรูปที่ ๓ นั้นเขียนรวมว่าเป็นหัวข้อ 3A001.e.2 ซึ่งในหัวข้อนี้ยังแยกออกเป็นอีก 2 หัวข้อย่อย a. และ b. ดังรายละเอียดที่แสดงในรูปที่ ๓

ทั้งหัวข้อย่อย a. และ b. นั้นข้อแรกกล่าวว่าใช้งานกับความต่างศักย์ได้เท่ากับหรือมากกว่า 5 kV (5000 V) แต่เนื่องจากตัวเก็บประจุตัวนี้ใช้กับความต่างศักย์สูงเพียงแค่ 1500 V ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุมตามหัวข้อ 3A001.e.2

แต่เนื่องจากในหัวข้อ 3A001.e นั้นมีหมายเหตุระบุไว้ว่า SEE ALSO 3A201.a. and the Military Goods Controls ดังนั้นแม้ว่าเมื่อตรวจสอบตามเกณฑ์หัวข้อ 3A001.e และไม่เข้าเกณฑ์ ก็ต้องไปตรวจตามเกณฑ์ข้อ 3A201.a. อีก

 

รูปที่ ๓ รายละเอียดหัวข้อ 3A001.e.2 ซึ่งพบว่าตัวเก็บประจุตัวนี้ไม่เข้าเกณฑ์สินค้าควบคุมตามข้อนี้

หัวข้อ 3A201.a (3A201 คือ Electronic components, other than those specified in 3A001 และหัวข้อย่อย a. คือ Capacitors having either of the following sets of characteristics ที่แยกออกเป็นหัวข้อย่อย 1. และ 2.) เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่กำหนดรายละเอียดของตัวเก็บประจุที่เป็นสินค้าควบคุมคือโดยมีรายละเอียดแสดงในรูปที่ ๔

ในหัวข้อย่อย 1. นั้นเกณฑ์ข้อแรก (a.) คือใช้กับความต่างศักย์ที่สูงกว่า 1.4 kV (ในยุโรปหลายประเทศนั้นจะใช้เครื่องหมาย comma "," แทนการใช้จุดทศนิยม ดังนั้นตัวเลข 1,4 kV ก็คือ 1.4 kV นั่นเอง) ซึ่งก็พบว่าตัวเก็บประจุตัวนี้เข้าเกณฑ์เพราะใช้กับความต่างศักย์ที่สูงถึง 1.5 kV

เกณฑ์ข้อที่สอง (b.) คือเก็บพลังงานได้มากกว่า 10 J (Joule) สำหรับตัวเก็บประจุนั้นพลังงานที่ตัวเก็บประจุเก็บได้คำนวณได้จากสมการ E = (CV2)/2 เมื่อ E คือพลังงาน (J), C คือค่า capacitance (F - Farad) และ V คือความต่างศักย์ (V - Volt) ดังนั้นพลังงานที่ตัวเก็บประจุตัวนี้เก็บได้คือ E = 0.5 x (300 x 10-6) x (1500)2 = 337.5 J ซึ่งมากกว่า 10 J ดังนั้นถือว่าตัวเก็บประจุตัวนี้มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์

เกณฑ์ข้อที่สาม (c.) คือสามารถเก็บประจุได้มากกว่า 0.5 uF ซึ่งก็พบว่าตัวเก็บประจุตัวนี้เข้าเกณฑ์ข้อนี้อีกเพราะสามารถเก็บประจุได้สูงถึง 300 uF

เกณฑ์ข้อที่สี่ (d.) คือค่าความเหนี่ยวนำเมื่อต่ออนุกรมมีค่าต่ำกว่า 50 nH แต่เนื่องจากค่าการเหนี่ยวนำของตัวเก็บประจุตัวนี้สูงถึง 50 nH จึงถือได้ว่าไม่เข้าเกณฑ์

 

รูปที่ ๔ รายละเอียดหัวข้อ 3A201.a (ในแบบญี่ปุ่นนั้น เครื่องหมาย O คือถูกต้องหรือตรง เครื่องหมาย X คือผิดหรือไม่ตรง)

และเมื่อพิจารณาหัวข้อย่อย 2. ก็พบว่าตัวเก็บประจุตัวนี้แม้ว่าจะเข้าเกณฑ์ข้อ a. (คือใช้กับความต่างศักย์สูงกว่า 750 V) และมีค่าความจุผ่านเกณฑ์ข้อ b. คือมากกว่า 0.25 uF) แต่ก็ไม่ผ่านเกณฑ์ข้อ c. คือต้องมีค่าความเหนี่ยวนำเมื่อต่ออนุกรมมีค่าต่ำกว่า 10 nH แต่ตัวเก็บประจุตัวนี้มีค่าสูงถึง 100 nH

ด้วยการพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าตัวเก็บประจุตัวนี้ไม่เป็นสินค้าควบคุมไม่ว่าจะเป็นหมวด 3A001.e หรือ 3A201.a

แต่ใน GENERAL NOTES TO ANNEX I ข้อ 2. กล่าวไว้ว่า "วัตถุประสงค์ของการควบคุมที่อยู่ใน Annex นี้ไม่ควรที่จะสามารถหลีกเลี่ยง (ผมขอแปลคำ defeat เป็นแบบนี้ก็แล้วกัน) ได้ด้วยการส่งออกสินค้าที่ไม่เป็นสินค้าควบคุม (รวมทั้งตัวโรงงาน) ที่มีชิ้นส่วนควบคุมเป็นส่วนประกอบจำนวนหนึ่งชิ้นหรือมากกว่า โดยที่ชิ้นส่วนควบคุมนั้นเป็นชิ้นส่วนหลักของสินค้านั้น และสามารถถอดออกหรือนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้ หมายเหตุ : ในการพิจารณาว่าชิ้นส่วนควบคุมนั้นเป็นชิ้นส่วนหลักหรือไม่ จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ปริมาณ, มูลค่า และเทคโนโลยีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และสภาพการณ์แวดล้อมพิเศษ ที่อาจทำให้มีการสั่งซื้อสินค้านั้นที่มีชิ้นส่วนควบคุมนั้นเป็นชิ้นส่วนประกอบหลัก" (รูปที่ ๕)

ในตัวอย่างนี้ตัวเก็บประจุนั้นประกอบด้วยตัวเก็บประจุขนาดเล็ก 3 ตัวต่อขนานกัน ซึ่งถือได้ว่าตัวเก็บประจุขนาดเล็ก 3 ตัวนั้นเป็นองค์ประกอบหลัก และเป็นมูลค่าหลักของสินค้านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาตัวเก็บประจุขนาดเล็กนั้นประกอบด้วย

 


รูปที่ ๕ รายละเอียดข้อ 2. ของ GENERAL NOTES TO ANNEX I

รูปที่ ๖ เป็นผลการพิจารณาตัวเก็บประจุตัวเล็ก 3 ตัวที่ประกอบเข้าด้วยกันเป็นตัวเก็บประจุขนาดใหญ่ 1 ตัว ซึ่งก็พบว่าตัวเก็บประจุตัวเล็กแต่ละตัวนั้นเป็นสินค้าควบคุมตามเกณฑ์ข้อ 3A201.a.1

แต่ในข้อ 2. ของ GENERAL NOTES TO ANNEX I ยังมีการกล่าวต่อด้วยว่า "สามารถถอดออกหรือนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้" ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาดูด้วยว่าหลังจากที่นำเอาตัวเก็บประจุตัวเล็ก 3 ตัวมาประกอบเป็นตัวเก็บประจุตัวใหญ่ 1 ตัว การถอดแยกชิ้นส่วนกลับมาเป็นตัวเก็บประจุตัวเล็ก 3 ตัว หรือการดัดแปลงเช่นการเปลี่ยนสายไฟภายในเพื่อให้ค่าการเหนี่ยวนำ (inductance) นั้นมีค่าไม่เกิน 50 nH นั้นทำได้หรือไม่ ซึ่งการที่จะตรวจสอบประเด็นนี้ได้จำเป็นที่ต้องรู้รายละเอียดโครงสร้างของตัวเก็บประจุ (ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบนั้นไม่ได้เป็นผู้ผลิตตัวเก็บประจุ) และในกรณีที่ผู้ผลิตกับผู้ตรวจสอบนั้นมีความเห็นไม่ตรงกัน กล่าวคือผู้ผลิตนั้นอาจเห็นว่าการพยายามแยกชิ้นส่วนออกมาเป็นตัวเก็บประจุตัวเล็ก 3 ตัวหรือการดัดแปลงเพื่อให้มีค่าการเหนี่ยวนำไม่เกิน 50 nH นั้นไม่สามารถกระทำได้ แต่ตัวผู้ตรวจสอบเกรงว่าอาจกระทำได้ (ซึ่งตัวผู้ตรวจสอบเองก็อาจไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำได้อย่างไร เพียงแค่สงสัยแค่นั้นเอง) ซึ่งถ้ามีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น จะหาข้อยุติดได้อย่างไร ตรงนี้คงต้องฝากเป็นประเด็นคำถามเอาไว้

การต่อตัวเก็บประจุนั้น ถ้าต้องการให้เก็บประจุได้มากขึ้นก็จะนำเอาตัวเก็บประจุมาต่อขนานกัน (อย่างในตัวอย่างนี้) แต่ถ้าต้องการให้รับความต่างศักย์ได้มากขึ้นก็ต้องนำมาต่ออนุกรมกัน (แต่ความสามารถในการเก็บประจุแต่ละตัวจะลดลง) เช่นถ้าเราเอาตัวเก็บประจุที่รับความต่างศักย์ได้ 750 V โดยที่แต่ละตัวเก็บประจุได้อย่างน้อย 10 uF สองตัวมาต่ออนุกรมกัน ตัวเก็บประจุชุดนี้ก็จะรับความต่างศักย์ได้ 1500 V แต่จะเก็บประจุรวมได้อย่างน้อย 5 uF ดังนั้นถ้านำตัวเก็บประจุนี้จำนวน 4 ตัวมาต่ออนุกรม 2 ชุด ฃุดละ 2 ตัว แล้วค่อยนำเอาชุดที่ต่ออนุกรมนั้นมาต่อขนานกัน ก็จะได้ตัวเก็บประจุรวมที่

รับความต่างศักย์ได้ 1500 V ซึ่งผ่านเกณฑ์ข้อ 3A201.a.1.a

เก็บประจุได้อย่างน้อย 10 uF ซึ่งผ่านเกณฑ์ข้อ 3A201.a.1.c) และ

เก็บกักพลังงานได้ = 0.5 x (10 x 10-6) x (1500)2 = 11.25 J ซึ่งผ่านเกณฑ์ข้อ 3A201.a.1.b)

 

รูปที่ ๖ การพิจารณาตัวเก็บประจุตัวเล็ก 3 ตัวที่ประกอบเข้าด้วยกันเป็นตัวเก็บประจุขนาดใหญ่ 1 ตัว โดยพบว่าเป็นไปตามเกณฑ์ข้อ 3A201.a.1

ส่วนชุดตัวเก็บประจุนี้จะเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับว่าตัวเก็บประจุตัวเล็กที่นำมาต่อนั้นมีค่าการเหนี่ยวนำต่ำกว่า 10 nH (เกณฑ์ข้อ 3A201.a.2.c) และสามารถถอดแยกแต่ละตัวออกมาได้หรือไม่ และรูปแบบการต่อนั้นทำให้ค่าการเหนี่ยวนำรวมไม่เกิน 50 nH ด้วยหรือไม่ ซึ่งจุดนี้แสดงว่าเกณฑ์ในข้อ 3A201.a.2 มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเอาตัวเก็บประจุขนาดเล็ก (ที่มีค่าการเหนี่ยวนำต่ำ) มาต่ออนุกรมและ/หรือขนานกัน เพื่อให้ได้ตัวเก็บประจุรวมสามารถรองรับค่าความศักย์ที่ต้องการและมีความสามารถในการเก็บประจุตามต้องการ

ตัวอย่างที่ ๑ นี้แสดงให้เห็นปัญหาเรื่องการที่ต้องวินิจฉัยว่าชิ้นส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบของสินค้าหลัก (ที่คุณลักษณะรวมของตัวสินค้าหลักไม่เข้าเกณฑ์เป็นสินค้าควบคุม) เป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องรู้ถึงคุณลักษณะของชิ้นส่วนย่อยที่นำมาประกอบ และวิธีการประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งตรงจุดนี้ผู้ที่ผลิตสินค้านั้นจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด

สำหรับตัวอย่างที่ ๑ นี้คงต้องขอจบเพียงแค่นี้

Post a Comment

0 Comments